mobile-cannes-lions-2015-jpg

12 ไอเดียโฆษณา Mobile เทพๆ จาก Cannes Lions 2015

(บทความนี้เขียนให้กับ brandbuffet.in.th เมื่อ  11/7/2015) 

 

งานคานส์ในปีนี้เฉพาะในหมวด Mobile มีรางวัลเกิดขึ้นทั้งหมด 109 รางวัล แบ่งเป็นรางวัล Grandprix  1 รางวัล Gold  8 รางวัล Silver 18 รางวัล ที่เหลือเป็น Bronze  คาดว่าหลายๆท่านคงได้ดูงานระดับโกลด์ที่แชร์ต่อๆกันไปบ้างแล้ว คอลัมน์นี้จึงขอคัดเลือกงานที่น่าสนใจตั้งแต่ซิลเวอร์ลงมาถึงบรอนซ์จำนวน 12 ชิ้นงาน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาเข้าไปดูทั้งหมด โดยงานหลักๆที่เกิดขึ้นในหมวด Mobile ปีนี้จะออกไปในลักษณะสร้างอรรถประโยชน์ (Utility) มากกว่าแง่มุมในการสร้างแบรนด์หรือแคมเปญระยะสั้น บางงานเริ่มผนวก Mobile เข้ากับข้าวของเครื่องใช้แบบอื่นๆมากกว่าแค่ Wearable Device ดูๆแล้วในปีต่อๆไปคงเริ่มมีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้ยุคความเป็น IoT (Internet of Things) มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเก็บตกงาน Cannes ในหมวด Mobile ปีนี้มีงานอะไรกันบ้างลองไปชมกันเลยครับ

 

1) SOS SMS (Mexican Red Cross)

แม้คนจะเริ่มใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้นแค่ไหน แต่ในหลายๆประเทศก็ยังมีสัดส่วนคนที่ยังใช้ Featured Phone กันมากในระดับหนึ่งอยู่ดี ดังนั้นการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงคนทั้งประเทศได้ก็ยังคงเป็น SMS ที่เม็กซิโกเกิดเหตุฉุกเฉินประมาณวันละ 3,000 เคส ในจำนวนนั้น 5% เสียชีวิต ทางสภากาชาดของเม็กซิโกจึงต้องการลดระดับการเสียชิวิตในช่วงระยะเวลาความเป็นความตาย แต่ก็ขาดข้อมูลที่จะช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น การรู้กรุปเลือด ประวัติการแพ้ยา ฯ ได้ดีเพียงพอ ดังนั้นทางสภากาชาดจึงเชิญชวนประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อทำ Medical Tag ของตัวเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นแล้วเราเกิดหมดสติหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทางทีมช่วยเหลือฉุกเฉินก็แค่หามือถือเราให้เจอ แล้วกด SMS ส่งรหัส *SOS ระบบของแต่ละค่ายมือถือจะเข้าไปเอาข้อมูลที่เราลงทะเบียนไว้มาแสดง  คนที่ช่วยเหลือเราก็ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยเหลือเราได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

 

 

 

2) The Les Paul Skill Check (Gibson Guitar)

กีตาร์เจ๋งๆสักตัวคือความใฝ่ฝันและความภาคภูมิใจของนักดนตรี โดยเฉพาะกีตาร์รุ่นท็อปอย่าง Gibson Les Paul ที่ตั้งชื่อตามผู้ที่ประดิษฐ์กีตาร์ไฟฟ้าแบบตัวถังทึบที่ทำให้เกิดเพลงแบบร็อคแอนด์โรลในเวลาต่อมา กีตาร์รุ่นนี้ทำออกมาแล้วหลายอิดิชั่น ซึ่งล่าสุดร่วมกับ Björn Gelotte นักกีตาร์ชื่อดังออกอิดิชั่น  2015 Les Paul signature edition designed by Björn Gelotte โปรโมทไปหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักมือกีตาร์มืออาชีพด้วยวิธีที่แหวกแนวด้วยแอพฯมือถือที่ชื่อว่า Shazam แอพฯนี้เป็นแอพฯที่จริงๆเอาไว้ใช้หาชื่อเพลงเวลาที่เราฟังเพลงแล้วอยากรู้ว่าเพลงนั้นคือเพลงอะไร โดยแอพฯจะเข้าไปค้นหาจากฐานข้อมูลของเพลงจนเจอ วิธีการนี้เอามาดัดแปลงโดยการทำโน๊ตเพลงท่อนโซโล่ยากๆขึ้นมาท่อนหนึ่งใส่ลงไปในฐานข้อมูลของ Shazam จากนั้นท้าทายความสามารถของนักกีตาร์ให้เล่นโซโล่โน๊ตนี้ผ่านแอพฯ ถ้าใครเล่นได้ถูกต้องเป๊ะๆก็จะเข้าไปในเวบพิเศษที่มีสิทธิ์ลุ้นได้กีตาร์เทพๆรุ่นนี้  หรือไม่ก็ลงชื่อขอซื้อ Pre-order ได้เลย เป็นการเล่นกับภาคภูมิใจของนักดนตรีที่บอกว่าเฉพาะคนพิเศษเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้กีตาร์รุ่นนี้ไปครอบครอง ไม่ใช่ทุกคน

source : creativity-online

source : creativity-online

 

 

3) Canon Gig App (Canon)

เวลาคนไปคอนเสริต์มักมีปัญหาเวลาควักสมาร์ทโฟนมาถ่ายบริเวณเวที เพราะศักยภาพของกล้องมือถือไม่สามารถถ่ายภาพที่มีแสงส่องเข้ากล้องแบบซับซ้อนได้ ปัญหานี้จะหมดไปถ้าถ่ายรูปด้วยกล้องแบบ DSLR คุณภาพดีๆ ไอเดียเพื่อโชว์ศักยภาพกล้อง DSLR ให้กับผู้เข้าชมคอนเสิรต์คือการผนวกสองสิ่งไว้ด้วยกัน เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพฯแล้วส่องเพื่อจะถ่ายรูป หน้าจอบนมือถือก็จะเป็นเหมือนดูผ่าน View Finder ของกล้อง DSLR ที่เตรียมติดตั้งไว้ในฮอลล์  เมื่อกดถ่ายภาพจากกล้อง DSLR ก็จะถ่ายแล้วส่งผ่านมายังแอพฯ พร้อมให้คนแชร์บรรยากาศคอนเสริต์สดๆด้วยภาพถ่ายคุณภาพดีๆได้ทันที ไอเดียนี้จึงเป็นไอเดียขายความแตกต่างเรื่องคุณภาพของกล้องทั้งสองแบบผ่านการจำลอง Virtual Experience บน Real Experience ได้อย่างลงตัวและแยบยล

 

 

4) Debattle (Sveriges Radio)

ปี 2014 การเลือกตั้งของสวีเดนใกล้เข้ามา หน้าที่หลักของสถานีวิทยุ Sveriges Radio ที่เคยเป็นสื่อเรื่องให้ข้อมูลการเมืองเริ่มเสื่อมมนต์ขลังลง ส่วนหลักๆเป็นเพราะวัยรุ่นไม่ค่อยจะฟังวิทยุแล้วและวัยรุ่นก็มองว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ทางสถานีนี้เลยคิดแอพฯขึ้นมาหนึ่งอันเพื่อกระตุ้นให้วัยรุ่นหันมาสนใจเรื่องการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามามากขึ้น โดยหยิบคำปราศัยบางส่วนของนักการเมืองมาให้ลองเล่นแต่งเพลงแรพฯโต้ตอบกันระหว่างสองนักการเมือง มาแนวนี้วัยรุ่นก็ชอบ และก็หวังว่าวัยรุ่นจะหันมาสนใจฟังคำปราศัยนโยบายของนักการเมืองเพิ่มมากขึ้น

 

 

5)  Base Phoneaddress (Base)     

ปกติเวลาพูดถึง Home Address ที่เราไว้ใช้บอกเวลาสั่งอาหารประเภทดิลิเวอรี่จะเป็นที่อยู่บ้านไม่ก็ออฟฟิส แต่ความเป็นจริงเราก็ไม่ได้อยู่บ้านหรือบางทีอาจเดินเล่นอยู่ที่สวนสาธารณะ ก็จะไม่สามารถสั่งได้เพราะเราไม่มีที่อยู่แน่นอน จะดีกว่าไหมถ้าเรา Disrupt ความคิดเรื่องที่อยู่นี้ให้กลายเป็นตัวเราเองไม่ใช่บ้านหรือที่ออฟฟิส และตัวที่จะบอกว่าที่อยู่ของเราอยู่ตรงไหนก็คือพิกัดที่เราอยู่บนสมาร์ทโฟนของเรานั่นเอง บริการที่อยู่เคลื่อนที่นี้เป็นของค่ายมือถือ Base ของเบลเยี่ยม ซึ่งการระบุที่อยู่แบบนี้เมื่อถูกเชื่อมต่อเข้ากับผู้ให้บริการต่างๆได้อย่างครอบคลุม ก็จะทำให้เรามีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

 

 

 

6)  BackMeApp (Always)  

แบรนด์ใหญ่ๆหลายๆแบรนด์มักมองหาความกังวัลใจในสังคม (Tension) ของกลุ่มเป้าหมาย และหาวิธีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ อย่างเช่นแบรนด์ที่เข้าใจผู้หญิงอย่าง Always รู้ว่าผู้หญิงหลายๆคนต้องกลับบ้านดึกบนทางเปลี่ยวๆซึ่งเกิดอันตรายได้ง่าย จึงออกแอพฯตัวหนึ่งที่ให้ผู้หญิงก่อนจะกลับบ้านให้เรียกหาเพื่อนช่วยคอยมอนิเตอร์บนมือถือจนกว่าจะถึงบ้าน ด้วยระบบ GPS บนมือถือเมื่อไหร่ที่มีเหตุการณ์ที่ดูแปลกๆ อาทิ หยุดเดินเกินสองนาที หรืออยู่ๆออกจาก Track ที่กำหนดไว้ก็จะเตือนเพื่อนๆให้โทรไปหาทันที

 

 

7)  Nzdronie (Tourism New Zealand)  

ไอเดียนี้ดูแล้วเหมือนมีคอนเซ็ปป์รากเหง้ามาจากบริการถ่ายรูปลงจานที่วางขายตามสถานที่เที่ยวต่างๆ แต่ในยุคโซเชียลนี้ทางการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ก็ได้ให้บริการที่มีรูปแบบคล้ายกันแต่วิธีการไม่เหมือนกัน โดยเป็นบริการให้ Drone ถ่ายวีดีโอให้ ซึ่งการถ่ายจะมีรูปแบบเฉพาะตัว คือเริ่มจากภาพโคลสอัพ จากนั้นจะบินถอยออกไปให้เห็นวิวทิวทัศน์ต่างๆโดยรอบ ด้วยความเก๋ของมันเพราะไม่ทุกคนที่เคยสัมผัสการถ่ายด้วย Drone ก็ทำให้วีดีโอเหล่านี้ถูกแชร์ไปในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ส่วนนิวซีแลนด์ก็ได้ขายทิวทัศน์ที่เห็นในมุมที่กว้างขวางเช่นเดียวกัน

 

 

 

8) Move Update. The Open Source Project (Mcdonald´s)

แบรนด์อย่าง McDonald’s เป็นแบรนด์ที่ขยันทำ Branded Game เพื่อขออยู่ในใจกลุ่มเป้าหมายเด็กหรือวัยรุ่น แต่ว่าการเล่นเกมอย่างเดียวทาง McDonald’s ก็มองว่าไม่ดี เพราะทำให้คนไม่ได้ออกกำลังกาย ไอเดียนี้เป็นแนวๆ CSR เริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่นหันมาออกกำลังกายมากขึ้น วิธีการคือเชื่อมต่อกับแอพฯที่เอาไว้วัดการออกกำลังกายต่างๆแล้วเปลี่ยนค่าวิ่งหรือออกกำลังกายต่างๆเป็นโบนัสในเกม โดยเริ่มจากเกมของ McDonald’s เองก่อน ความเจ๋งของไอเดียนี้คือการต่อยอดที่แจก Source code ให้กับนักพัฒนาเกมอื่นๆให้เอามาใช้ต่อไป ในอนาคตบางทีถ้าอยากผ่านด่านเกมดังๆอาจจะต้องออกไปวิ่งผลาญแคลอรี่ก่อนจึงจะเล่นต่อไปได้ ถ้ามีจริงผู้ปกครองคงชอบ

 

 

 

9) The Unforgotten (Illinois Council Against Handgun Violence)  

เหยื่อผู้เสียชิวิตจากเหตุอาวุธปืน (Gun Violence) มีหลายหมื่นคนในแต่ละปี หลายๆครั้งเป็นเหตุระทึกขวัญที่กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชิคาโก โปรเจค Unforgotten เป็นโปรเจคที่ไม่อยากให้การสูญเสียชีวิตของผู้รับเคราะห์นั้นสูญไปอย่างไร้ค่า แต่ควรเป็นบทเรียนให้โลกได้ตระหนักรู้ถึงอันตรายของการมีปืนไว้ในครอบครอง โปรเจคนี้เป็น Art Exhibition กลางแจ้งตามท้องถนนจัดแสดงหุ่นที่ใส่เสื้อผ้าเดียวกับที่ผู้เสียชิวิตสวมใส่ในวันที่เกิดเหตุการณ์ เพียงแต่หุ่นนั้นไม่มีศีรษะและใบหน้าเปรียบเสมือนกับชิวิตที่หายไปอย่างง่ายดายด้วยเสียงปืน เมื่อเราใช้มือถือส่องไปที่ Name Tag ของหุ่นก็จะเห็นเรื่องราวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายขณะมีชีวิตอยู่ และหายใครเห็นด้วยกับโปรเจคก็ไปลงชื่อ petition ได้

 

 

 

10)  Pay Per Love (Teatreneu)

ก่อนหน้าที่ทางเครือโรงละคร Teatreneu ออกแคมเปญ Pay per Laugh จ่ายค่าดูตามเสียงหัวเราะที่ฮือฮามาก่อนหน้านี้ โดยการที่ให้คนมาดูละครแบบฟรีๆเพียงแต่ว่าที่นั่งจะมีระบบ Face Detection คอยตรวจจับว่าหัวเราะครั้งใดก็ชาร์จค่าชมไปทีละนิด สาเหตุที่ออกมาก็คือเพราะรัฐบาลขึ้นภาษีการดูละครมหาโหดจนคนหนีไปทำอย่างอื่น มาคราวนี้กลับมาต่อยอดของเดิมโดยเหน็บแนมรัฐบาลที่เพิ่มภาษีการดูละครแต่กลับไปลดภาษีโรงแรม Motel และบริการ Dating เสียฉิบ วิธีการต่อยอดก็คือชวนคนโสดมาดูละครที่นี่ แต่ก่อนเริ่มแสดงแต่ละคนต้องใส่โปรไฟล์ของตัวเองบน tablet ที่อยู่บนที่นั่งแบบเดียวกับแอพฯ Tinder ทีนี้แทนที่จะไปดูว่าใครมีความชอบเหมือนกัน ก็ปล่อยให้การดูละครดำเนินไปจนจบ เมื่อจบละครระบบจะทำการจับคู่เพศตรงข้ามว่าใครหัวเราะในซีนแบบเดียวกัน ในนัยยะที่ว่าเป็นคนที่มีอารมณ์ขันแบบเดียวกันชีวิตคู่ก็น่าดูสนุก หากเราเลือกตอบรับก็เหมือนแอพฯ Tinder เลยก็คือชวนไปเดทกัน นอกจากจะได้ค่าดูตามการหัวเราะแล้ว ยังได้ค่าดูเพิ่มจากคนที่ยอมรับการจับคู่อีก เหมือนบริการ dating ไม่มีผิด

 

 

11)  South Korean-North Korean translator (Dream Touch For All) 

เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้นั้นอยู่ใกล้กันแต่ก็มีความแตกต่างกันมาก อย่างเช่นภาษาของเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้แม้จะดูเผินๆเหมือนกันแต่หลายๆคำก็ไม่เหมือนกันเลย และในเกาหลีใต้เองก็มีชาวเกาหลีเหนือลี้ภัยมาราว 27,000 คนที่ประสบปัญหานี้ ที่แม้แต่ Google Translate ก็ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ โปรเจคนี้จึงพัฒนาแอพฯที่ช่วยให้ชาวเกาหลีเหนืออ่านภาษาเขียนของเกาหลีใต้ได้ดียิ่งขึ้น เพียงแค่สแกนไปลงบนคำศัพท์ก็จะเปลี่ยนภาษาให้ชาวเกาหลีใต้เข้าใจได้ทันที

 

 

12)  OWLET (OWLET Baby Care)

พ่อแม่ลูกอ่อนมักมีปัญหาตื่นมาดูลูกตอนดึกๆด้วยความกังวล ไอเดียนี้คือ Smart Socks ที่เชื่อมต่อข้อมูลเข้ามือถือของพ่อแม่ด้วยเทคโนโลยีที่ไว้ใช้แทรคข้อมูลต่างๆแบบเดียวกับ Wearable Device ที่เราใช้ๆกัน โดยถุงเท้าอัจฉริยะนี้สามารถสวมให้เด็กขณะนอนหลับ ระบบจะเช็คข้อมูลการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจน เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นมาพ่อแม่ก็จะได้รับการแจ้งเตือนทันที วิธีนี้ก็ทำให้พ่อแม่สามารถนอนหลับพักผ่อนแบบคลายความกังวลใจ

https://www.youtube.com/watch?v=cA_NBd-_zwM