ted00

ถอดรหัสสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก TEDxBangkok 2015 พูดแบบไหนถึงจะเหมือน Talk Like TED

ผมเป็นติ่ง TED

หลายๆคนคงรู้จักเวที TED TALK กันแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จัก TED คือเวทีที่เชิญผู้ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นขึ้นมาพูดภายใน 18 นาที เวทีนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1984 แต่ภายหลังถูกซื้อโดย  Chris Anderson กลายเป็นเวทีคอนเฟอเรนซ์ที่มีทุกปีจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดา คนที่เคยขึ้นเวทีนี้ล้วนแต่คนดังระดับโลกไม่ว่าจะเป็น บิล คลินตัน อัล กอร์ บิล เกตต์ ฯ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ จากที่เคยมีแค่หัวข้อแค่บางหัวข้อตามชื่อย่อของ TED ที่มาจาก Technology, Entertainment และ Design ทุกวันนี้ครอบคลุมหลายสาขา มีสโลแกนครอบคลุมทั้งหมดว่า “Ideas Worth Spreading” ใครสนใจก็สามารถเข้ามาดูฟรีๆได้ที่ www.ted.com ข้างในเวบนี้ถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์ด้านความรู้ เป็น Inspiration Platform ที่มีคอนเทนต์เทพๆมากมาย

ผมเชื่อว่าคงมีใครหลายคนที่อยากไปฟังเวที TED สดๆที่แคนาดา  แต่การเข้าไปได้นั้นยากยิ่งเพราะเขาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมทั้งชื่อเสียงและกำลังทรัพย์ที่พร้อมสนับสนุนโครงการต่างๆที่ขึ้นมาพูด เรียกได้ว่าโอกาสนั้นเป็นศูนย์ อีกอย่างเฉพาะค่าเข้าอย่างเดียวก็มหาโหด แค่ประมาณ 280,000 บาทเท่านั้นเอง

และวันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าจะมีการจัด TEDx ที่กรุงเทพฯหรือ TEDxBangkok มีหรือที่จะพลาด หลังจากที่สมัครไปแล้วอดทนรอเป็น Waiting List ในที่สุดก็ได้ตั๋วมาอยู่ในมือสมใจ

สำหรับ TEDx นั้น มีความต่างจาก TED ปกติคือ เป็นอีเวนต์ที่จัดโดยทีมอื่นๆที่ไม่ใช่ TED ประมาณว่าเป็นแฟรนไชส์ของ TED เวที TEDx นั้นปัจจุบันจัดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก ในไทยก็เคยมีการจัด TEDxChiangmai มาก่อนหน้านี้ และถึงแม้จะไม่ใช่ TED ใหญ่ แต่การจัดการนั้นมีการควบคุมคุณภาพประสานงานกับทีมงาน TED เป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้นสามารถคาดหวังได้ถึงบรรยากาศที่ใกล้เคียงกัน

คนที่ชอบดู TED นั้น รู้กันอยู่แล้วว่านนอกจากจะได้ความรู้จากเนื้อหาที่พูดแล้ว วิธีการพูดแบบ Public Speaking ของผู้บรรยายแต่ละท่านก็ถือว่าเข้าเข้าเอกอุ จนเราสามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องแบบ Storytelling ศึกษาว่าจะต้องพูดยังไงให้จับใจคนดูให้อยู่หมัด ทำยังไงให้พูดแล้วเกิดเหตุการณ์คนดูลุกขึ้นมา Standing Ovation  เบื้องหลังการพูดเหล่านั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่ขึ้นมาแล้วพูดได้เลย แต่ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี มีการซ้อมอย่างเข้มงวดก่อนจะถึงวันที่พูดจริงที่มีเวลาให้พูดแค่ 18 นาทีเท่านั้น จนกระทั่งมีหนังสือออกมาจำนวนหนึ่งที่วิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยในการพูดแบบ TED Talk หนึ่งในนั้นคือ “TALK LIKE TED” ของ Carmine Gallo

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ความลับ 9 ประการที่จะพูดได้อย่าง TED ผมจึงขอรีวิวงาน TEDxBangkok นี้ไปพร้อมๆกับการผนวกเข้ากับเนื้อหาเล่มนี้แบบคร่าวๆเสียเลย

 

 

ted01

 

ความลับที่ #1 Unleash the Master Within

ในส่วนนี้เป็นเรื่องของ Passion, Passion และ Passion ล้วนๆ การจะพูดได้ดีเราต้องมีความหลงใหลอย่างถอนตัวไม่ขึ้นในเรื่องที่อยากจะพูด คนเราจะไม่สามารถ Inspire คนอื่นได้ถ้าตัวเราเองไม่ Inspire ตัวเองได้  คนฟังไม่ได้อยากฟังเรื่องราวทั่วไป แต่อยากฟังความคิดความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านั้น หรือ What makes  your heart sing ที่ทำให้ตัวคุณเป็นคุณไม่ใช่คนอื่น เมื่อคุณเอา Passion เป็น Topic หรือหัวใจในการเล่าของคุณ ทุกอย่างจะตามมาเอง และคนฟังจะรู้สึกได้แบบเดียวกันกับคุณ

ทั้ง 18 ท่านที่มาพูดใน TEDxBangkok ผมว่าเจ๋งในเรื่องนี้อยู่แล้ว ทุกๆท่านมีความรักในเรื่องราวที่พูดออกมา ถ้าจะให้หยิบยกสักท่านออกมา ผมขอหยิบเรื่องของ ดร.โก้ นักฟิสิกส์จาก UCLA ที่ผันตัวเองออกมาเป็นครูอนุบาล สอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆได้เข้าใจได้ง่าย เหตุผลที่เลือกก็เพราะว่าผมแอบเห็นความสุขจากรอยยิ้มของผู้พูดและรอยยิ้มของเหล่าเด็กๆจากพรีเซ็นเทชั่นมากที่สุด

 

 

 

ความลับที่ #2 Master the Art of Storytelling

หัวข้อนี้เป็นเรื่องของเทคนิคที่จะ Connect กับคนฟัง วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ การเล่าเรื่องราวส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องปูมหลังครอบครัวก็ดี หรือเรื่องที่ใครหลายคนที่อาจจะผ่านประสบมาก็ดี มักเชื่อมโยงความรู้สึกแบบ Human ได้ง่าย คนฟังก็เห็นภาพได้ง่าย เชื่อหรือไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบแล้วว่าการทำงานของสมองทั้งผู้พูดและผู้ฟังเชื่อมโยงกันได้จริงๆ การเล่าเรื่องราวส่วนตัวนี้บอกตัวเราให้กับผู้อื่นว่าเราก็เป็นคนแบบเดียวกับคุณ เป็นมนุษย์ที่มีตัวตน ไม่ใช่เป็นคนเหนือมนุษย์มาจากไหน มีเจ็บ มีเศร้า มีโกรธ หรือมีความสุขได้เหมือนๆกัน

ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องราวส่วนตัว (หรือเรื่องราวของคนอื่น) หัวใจสำคัญมันอยู่ที่สองส่วน ส่วนแรก มันเป็นเรื่องที่ย่อยง่าย ติดตามได้ง่าย เหมือนเอาหัวใจเขามาใส่หัวใจเรา ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวกว่าที่สมองจะประมวลผลไม่ไหว พยายามใช้ภาษาง่ายๆเข้าไว้ เล่าให้มีพล็อตแบบพล็อตละครบรอดเวย์ มีจุดพลิกผัน เรื่องราวที่เดาต่อไม่ได้

อีกส่วนเป็นเพราะ Emotional Connection หัวใจของการสื่อสารคือเรื่องอารมณ์ (Pathos) ไม่ใช่เรื่องของตรรกะตัวเลข (Logos) ไม่ใช่เรื่องของความน่าเชื่อถือ (Ethos) มีการวิเคราะห์กันแล้วว่าผู้ที่พูดใน TED ที่เจ๋งๆมักใช้คำแนวอารมณ์มากกว่าอีกสองแนวที่เหลือ พยายามเปลี่ยนสิ่งที่อยากจะพูดให้ออกมาเป็นแนว emotion ให้มากเข้าไว้ ดังที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ความตายของมนุษย์คนหนึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรม แต่ความตายของคนนับล้านเป็นเพียงตัวเลขสถิติ” ผมว่าประโยคนี้ชัดเจนและบอกเราทุกอย่าง

ผู้พูดใน TEDxBangkok ส่วนมากมักเริ่มตามแพทเทิรน์นี้ คือการเล่าเรื่องประวัติของตัวเอง ผมชอบเรื่องราวของหลายๆท่านมาก แต่ที่ชอบมากที่สุดคือเรื่องของ คุณบอมผู้ก่อตั้งฟาร์มสุขไอศกรีม ธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อช่วยเด็ก ที่เล่าเรื่องราววัยเด็กที่ถูกแม่ทำโทษจนเจ็บฝังใจด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ทำให้ผู้ฟังอย่างผมต้องลุ้นไปด้วยว่าจะสามารถเล่าไปจนจบได้หรือไม่  นอกจากนั้นการเริ่มจากการพูดถึงปมในวัยเด็กและสุดท้ายได้มาเปิดใจพูดกับแม่อีกครั้งจนในที่สุดก็แฮปปี้เอนดิ้ง เรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาไม่ต่างกับการเล่านิทาน มีจุดตกต่ำ มีจุดพีค และแฮปปี้เอ็นดิ้ง

 

 

 

ความลับที่  #3 Have a conversation

ไม่มีอะไรดีกว่าการ ซ้อม ซ้อม และซ้อม จนเหมือนเราคุยกับเพื่อน มีคนเคยกล่าวไว้ว่าถ้าเราจะเป็น Master อะไรสักอย่างเราต้องฝึกซ้อมให้ได้เกิน 10,000 ชั่วโมง แล้วทุกๆการซ้อมของเราจะผลักดันให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นเอง

Don’t deliver presentation. Have a conversation instead.

การจะพูดให้ดีต้องมีการวางแผน ต้องเข้าใจระดับของผู้ฟังก่อน เราไม่ควรลงรายละเอียดถ้าผู้ฟังต้องการภาพใหญ่ก่อนเพื่อทำความเข้าใจ จากนั้นซ้อมๆๆๆ และขอฟีดแบค เมื่อนั้นจะเห็นรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่สามารถพัฒนาขึ้นได้จนกระทั่ง ทุกส่วนในร่างกายทั้งน้ำหนักพูด จังหวะพูด ความเร็ว คำและประโยคที่ใช้ และ Body Language หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ที่สำคัญจงมั่นใจและเชื่อมั่นใน  message ของคุณ พยายามให้ผู้ฟังมองที่เรามากที่สุด งาน TED ส่วนมากจะเห็นได้ว่าพระเอกอยู่ที่ผู้พูด ไม่ใช่หน้าจอพรีเซนเทชั่น

เท่าที่ได้คุยกันนอกรอบกับคุณวรรณสิงห์ เข้าใจว่างาน TEDxBangkok นี่วางแผนซ้อมกันหนักมากเกือบครึ่งปี ทุกๆท่านทุ่มเทซ้อมกันมามากมายเพื่อให้วันงานเป็นวันที่ดีที่สุด แต่ถ้าต้องเลือกเป็นตัวอย่างของหัวข้อนี้ผมขอเลือก คุณหลุยส์ นักแสดงละครเวที ที่เตรียมตัวมาตั้งแต่เครื่องแต่งกาย มาจนถึงวิธีการพูดในรูปแบบละครเวทีที่รู้เลยว่าทุ่มเทเป็นอย่างมากกว่าจะทำออกมาได้

 

 

 

 

ted02

 

ความลับที่  #4 Teach Me Something New

มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็น เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็คงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จงพยายามให้สิ่งที่ไม่เคยรู้แก่คนอื่น แต่ต้อง package ในมุมที่น่าสนใจ เริ่มจากมองว่าถ้าต้อง deliver หนึ่งอย่างให้แก่ผู้ฟัง เราจะ deliver อะไร พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ถ้ามันเป็นเรื่องน่าเบื่ออย่างเช่นข้อมูลตัวเลข พยายามเปลี่ยนมุมการเล่าให้สดใหม่ (fresh) เข้าไว้ ให้เลนส์ในการมองใหม่ๆแก่ผู้ฟัง เมื่อคนฟังได้ฟังสิ่งใหม่ๆ สารความสุขอย่าง Dopamine จะหลั่งออกมา

เรื่องราวที่ทำให้ผมช็อคในงาน TEDxBangkok ก็คือเรื่องการค้ามนุษย์ที่เล่าโดย ศุภกร โนจา ผอ. ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาเด็ก ไม่อยากเชื่อเลยว่าเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิดอยู่ใกล้ตัวเรามาก และเลวร้ายเกิดกว่าที่จะเราจะจินตนาการไปถึง

 

 

 

ความลับที่  #5 Deliver Jaw-dropping Moments

ถือเป็นไฮไลต์ที่สำคัญอันหนึ่งของ Public Speaking เพราะมันจะเป็นโมเมนต์ทำให้คนจดจำ (memorable) เราได้ แม้ว่าพรีเซนเทชั่นจะผ่านไปนานแค่ไหนแล้วก็ตาม วิธีการก็แล้วแต่จะดีไซน์ผ่านความคิดสร้างสรรค์ว่าจะทำแบบ Shocking , Impressive หรือ Surprising ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบก็ได้ทั้งนั้น ส่วนนี้เรามักเรียกว่า “Hook” หรือ “Jaw-dropping Moments”  นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Emotionally Charged Event หรือ Emotional Competent Stimulus (ECS) จะเป็นโพสท์อิทที่แปะอยู่ในสมองเรา เมื่อถูกดีไซน์มาเป็นอย่างดี โมเมนต์เหล่านั้นจะเป็นสิ่งแรกที่เราจะนึกถึงเมื่อมองย้อนกลับมา หรือเป็นสิ่งแรกที่เราจะเอาไว้บอกต่อคนอื่น ควรมีไว้ในทุกๆพรีเซ็นเทชั่น

ใน TEDxBangkok ต้องบอกว่าไม่มีใครที่จดจำได้มากเท่ากับอาจารย์พิเชษฐ์ กลั่นชื่น นักออกแบบท่าเต้นที่นำเอาวัฒนธรรมไทยมาผสานความร่วมสมัย ตั้งแต่ตอนแนะนำตัวแบบสามอวตาร จนมาถึงพูดถึงเรื่องการตัดสินความจริงผ่านความเชื่อด้านวัฒนธรรม โมเมนต์ที่อาจารย์เอารองเท้าจากผู้ฟังมาไว้บนหัวตลอดบรรยาย ทำให้ทุกคนนั้นอึ้งจริงๆ กว่าครึ่ง Hall ลุกขึ้น Standing Ovation

 

 

ความลับที่  #6 Lighten Up

พยายามใส่อารมณ์ขัน (Sense of Humor) ลงไปในการพูด มันเป็นแทคติกเสริมที่ให้ผู้ฟังเปิดรับเราได้ง่าย ใครๆก็ชอบเรื่องติดตลกทั้งนั้น แต่การทำให้มันเกิดขึ้นต้องห้ามฝืน ทำให้มันเป็นธรรมชาติ และอย่าพยายามใส่ความตลกโปกฮาแบบไม่ดูตาม้าตาเรืออย่าง Dirty Joke ที่ไปโดนใครเข้าเด็ดขาด บางทีการสร้างอารมณ์ขันนี่ถือเป็นศิลปะขั้นสูงสุดเลยก็ว่าได้

ผมว่าตัวอย่างที่ดีคือเรื่องของคุณพล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ตผู้อยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ตระดับประเทศ ที่นอกจากจะทำให้ทุกคนรู้ว่าการออบแบบคอนเสิร์ตมีศาสตร์เฉพาะของมันแล้ว ตัวอย่างคอนเสริต์ของวง Paradox ที่หยิบออกมาเล่านั้นเรียกได้บ้าสุดติ่งมาก โคตรรรรรตลก

 

 

 

 

ted03

 

ความลับที่  #7  Stick to 18-Minute Rule

อย่าพยายามให้เกิด information overload คือสาเหตุที่ทำไม TED ถึงจำกัดเวลาอยู่ที่ 18 นาที เพราะสมองเรามีข้อจำกัดในการประมวล บางคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดเรื่องที่ซับซ้อนภายใน 18 นาที อยากให้ลองดูเพราะ Creativity loves constraints ลองหาเทคนิคมาใช้ อาทิ The Three-story Structure ที่แบ่งเรื่องที่จะพูดออกเป็นสามอย่าง แล้วหาเรื่องราวมาสนับสนุน

ใน TEDxBangkok ครั้งนี้ก็ถือว่ามีความแตกต่างในเรื่องเวลาที่ใช้พูดกันค่อนข้างมาก ไม่ได้ยึดติดที่ 18 นาทีมากนัก (มีให้เห็นตั้งแต่ 12 นาที จนถึง 22 นาที) แต่ผมขอหยิบเรื่อง “ทุนนิยมสามานย์” ของท่านบรรยง พงษ์พานิช เพราะรู้สึกว่าในภาพรวมมันกลมกล่อมมาก ท่านพูดเรื่องยากๆอย่างทุนนิยมมาพูดได้โดยคนฟังไม่รู้สึกเหนื่อยกับเรื่องหนักๆขนาดนี้ โดยไม่ต้องใช้ตัวเลขหรือศัพท์ยากๆหรือแม้กระทั่งความหวือหวาของพรีเซ็นเทชั่นมาโน้มน้าวผู้ฟังเลย นี่แหละนักพูดที่เก๋าจริงๆ และท่านเป็นหนึ่งคนที่บริหารเวลาพูดได้ใกล้เคียง 18 นาทีมากที่สุดใน TEDx ครั้งนี้

 

 

 

ความลับที่  #8 Paint a Mental Picture with Multisensory Experiences

เป็นเรื่องของพูดยังไงที่ไม่ใช่เรื่องของการพูด แต่เป็นเรื่องการเร้าประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็น sight, sound, touch, taste หรือ smell พยายามใช้ภาพ (Visual) มาช่วยให้มากที่สุด ถ้าจำเป็นต้องโชว์ตัวเลข พยายามหยิบมาแค่สไลด์ละหนึ่งเท่านั้น ทิปอีกข้อคือ ใน 10 สไลด์แรก ไม่ควรมี Text เกิน 40 คำในหนึ่งสไลด์  ส่วนมากเราจะเน้นแค่ตาดูหูฟัง แต่จริงๆแล้วเราสามารถสร้างประสาทสัมผัสเทียมผ่าน imagination ของผู้ฟังได้ บางครั้งภาพในหัวของผู้ฟังสำคัญกว่าภาพที่โชว์บนหน้าจอเสียอีก

Don’t think just about what you want people to know; think about how you want them to feel.

ลองเลิกพึ่งหน้าจออย่างเดียวแล้วผสานเทคนิคอื่นให้คนฟังได้รู้สึกร่วมไปกับเราจริงๆ

ผมชอบเรื่องของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ดำเนินรายการ “พื้นที่ชีวิต” ที่ใช้ภาพที่เกิดจากประสบการณ์การเดินทางจริงเล่าถึงความคิดที่แตกต่างกันในเรื่องแบบเดียวกันของคนสองกลุ่มที่อยู่ต่างพื้นที่ของโลก ไม่ต่างจากความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในคน เดินทางเข้าไปรู้จักเขาแล้วเราจะเข้าใจเขามากขึ้น

 

 

 

ความลับที่  #9 Stay in Your Lane

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสุดท้ายแต่สำคัญที่สุด จงเป็นตัวของตัวเอง จงอย่าเอาอย่างสไตล์ของคนอื่น เพราะถ้าคุณไม่เป็นตัวเองในการพูด คนฟังจะรู้สึกได้ทันทีและไม่ศรัทธาในตัวคุณ แต่ถ้าคุณเป็นตัวของตัวเอง คุณจะพูดออกมาจากหัวใจ สิ่งที่คุณพูดจะไม่ใช่แค่ presentation แต่จะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนอื่น

 

ขอขอบคุณทีมงาน TEDxBangkok งานออกมาดูรู้เลยว่าตั้งใจเต็มที่ ค่าบัตรที่จ่ายไปถือว่าคุ้มมากครับ แม้จะมีความตะกุกกตะกักบ้างในเรื่องเทคนิคของพรีเซนเทชั่นบ้าง แต่ก็ขอเป็นกำลังใจทำงานดีๆแบบนี้ออกมาเรื่อยๆครับ

ใครอยากดูทุกคลิปของ TEDxBangkok สามารถติดตามได้ที่ Youtube นี้ครับ

มีอีกไอเดียน่ารักๆที่น่าสนใจในงาน เป็นไอเดียของสปอนเซอร์ Shell ที่จัดทีมศิลปินมาวาด Real-time Infographic กันสดๆขณะที่ผู้บรรยายขึ้นมาพูดบนเวที เป็นไอเดียที่เด็ดดวงมาก ชอบมากจริงๆ

 

ted05

 

 

สุดท้าย  ขอทิ้งท้ายด้วยประโยคเด็ดๆจากหนังสือเล่มนี้ว่า

 

 “An inspiring speaker should move his or her listeners to think differently about their lives, careers, or businesses. A great speaker must makes you want to be a better person.”

 

ted00